ถั่วดาวอินคา (Sacha inchi) เป็นพืชที่พบทั่วไปในแถบประเทศอเมริกาใต้ ซึ่งมนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยอินคา หรือในช่วงปี ค.ศ. 1438-1533 และสืบทอดมากันมาสู่คนพื้นเมืองมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการนำถั่วดาวอินคามาใช้ประโยชน์หลากหลาย อาทิ เมล็ดคั่วสุกใช้ทำซอส สกัดน้ำมัน หรือรับประทานเป็นอาหารคบเคี้ยว และใบใช้ประกอบอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ จากแหล่งกำเนิด และเคยมีชาวอินคานำมาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยจึงเรียกถั่วชนิดนี้ว่า ถั่วดาวอินคา
- วงศ์ : Euphorbiaceae
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plukenetia volubilis L.
- ชื่อสามัญ :
– Sacha inchi
– Inca peanut
– Sacha peanut
– Mountain peanut
– Supua peanut
ชื่อท้องถิ่น : ถั่วดาวอินคา
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ถั่วดาวอินคา มีถิ่นกําเนิดในแถบประเทศอเมริกาใต้บริเวณแถบประเทศเปรู พบเติบโต และแพร่กระจายทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 100-2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ปัจจุบัน ถูกนำเข้ามาปลูกในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ถั่วดาวอินคา มีลำต้นเป็นไม้เลื้อยที่มีอายุนาน 10-50 ปี ลำต้นแตกกิ่งเป็นเถาเลื้อยได้ยาวมากว่า 2 เมตร เถาอ่อนมีสีเขียว เถาแก่หรือโคนเถามีสีน้ำตาล แก่นเถาแข็ง และเหนียว
ใบ
ถั่วดาวอินคาเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเยื้องกันตามความยาวของเถา ใบมีรูปหัวใจ โคนใบกว้าง และเว้าตรงกลางเป็นฐานหัวใจ ส่วนปลายใบแหลม แผ่นใบมีสีเขียวสด และมีร่องตื้นๆตามเส้นแขนงใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร
ดอก
ถั่วดาวอินคาออกดอกเป็นช่อตามซอกใบบนเถา แต่ละช่อมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกมีลักษณะทรงกลม สีเขียวอมเหลือง เป็นดอกชนิดแยกเพส แต่รวมอยู่ในช่อดอก และต้นเดียวกัน โดยดอกเพสเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อดอก 2-4 ดอก ส่วนดอกเพศผู้มีจำนวนมากถัดจากดอกเพศเมียมาจนถึงปลายช่อดอก ทั้งนี้ ถั่วดาวอินคาจะติดดอกครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 5 เดือน หลังเมล็ดงอก และผลจะแก่ที่พร้อมเก็บได้ประมาณอีก 3-4 เดือน หลังออกดอก
ผล และเมล็ด
ผลถั่วดาวอินคาเรียกเป็นฝัก มีลักษณะเป็นแคปซูลที่แบ่งออกเป็นพูๆหรือแฉก 4-7 พู ขนาดฝักกว้าง 3-5 เซนติเมตร เปลือกผลอ่อนมีสีเขียวสด และมีประสีขาวกระจายทั่ว แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อสุก และแก่จนแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล พร้อมกับเปลือกปริแตกจนมองเห็นเมล็ดด้านใน
เมล็ดถั่วดาวอินคาใน 1 ผลหรือฝัก จะมีจำนวนเมล็ดตามพูหรือแฉก อาทิ ฝักมี 5 พู ก็จะมี 5 เมล็ด หากมี 7 พู ก็จะมี 7 เมล็ด โดยเมล็ดจะแทรกอยู่ในแต่ละพูในแนวตั้ง เมล็ดมีรูปทรงกลม และแบน ขอบเมล็ดบางแหลม ตรงกลางเมล็ดนูนเด่น ขนาดเมล็ดกว้าง 1.5-2.0 เซนติเมตร ยาว 1.8-2.2 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 1.5 กรัม/เมล็ด เปลือกเมล็ดเป็นแผ่นบาง มีสีน้ำตาลอมดำ ถัดมาจากเปลือกเป็นเนื้อเมล็ดที่มีสีขาว เนื้อเมล็ดเมื่อคั่วสุกจะกรอบ และมีรสมันอร่อย มีน้ำมันปริมาณมาก
ประโยชน์ถั่วดาวอินคา
- เมล็ดถั่วดาวอินคานำมาคั่วไฟร้อนให้สุกก่อนรับรับประทานเป็นอาหารขบเคี้ยว เนื้อเมล็ดหอม กรอบ และมีรสมันอร่อยคล้ายกับเมล็ดถั่ว
- เมล็ดถั่วดาวอินคาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว อาทิ ถั่วคั่วเกลือ ถั่วทอด เป็นต้น
- เมล็ดถั่วดาวอินคานำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว เป็นต้น รวมถึงแปรรูปเป็นแป้งถั่วดาวอินคาสำหรับใช้ประกอบอาหาร และทำขนมหวาน
- เมล็ดถั่วดาวอินคานำมาสกัดน้ำมัน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่
– ใช้เป็นน้ำมันรับประทานเพื่อเป็นอาหารเสริมให้แก่ร่างกาย โดยมักผลิตในรูปบรรจุขวดหรือบรรจุแคปซูลพร้อมรับประทาน
– ใช้เป็นน้ำมันทอดหรือประกอบอาหาร
– ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง เช่น โฟมล้างหน้า สบู่ น้ำหอม และครีมบำรุงผิว เป็นต้น
– น้ำมันที่สกัดได้ใช้สำหรับทานวดแก้ปวดเมื่อย รวมถึงใช้ชโลมผมให้ดกดำ และจัดทรงง่าย
5. ใบอ่อน และยอดอ่อนนำมาประกอบอาหาร เนื้อใบ และยอดอ่อนมีความนุ่ม และมีรสมัน ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว สามารถทำได้ในหลายเมนู อาทิ ยอดถั่วดาวอินคาผัด น้ำมันหอย แกงจืดยอดอ่อนถั่วดาวอินคา แกงเลียงหรือแกงอ่อมยอดอ่อนถั่วดาวอินคา เป็นต้น รวมถึงนำยอดอ่อนมาลวกหรือรับประทานสดคู่กับน้ำพริกหรือ อาหารจำพวกลาบ ซุบหน่อไม้ เป็นต้น
- ใบแก่ที่มีมีสีเขียวเข้มนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก แล้วตากแดดให้แห้ง ก่อนใช้ชงเป็นชาดื่ม
- ใบที่มีสีเขียวสดนำมาสกัดคลอโรฟิลล์หรือนำมาปั่นเป็นน้ำคลอโรฟิลล์ดื่ม
- เปลือกฝัก และเปลือกเมล็ดใช้ทำปุ๋ยหมัก หรือนำไปอัดเป็นเชื้อเพลิงแท่งสำหรับหุงหาอาหาร
คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดถั่วดาวอินคา (ถั่วคั่วเกลือ 100 กรัม)
Proximates | ||
พลังงาน | กิโลแคลอรี | 607 |
โปรตีน | กรัม | 32.14 |
ไขมัน | กรัม | 46.43 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 17.86 |
เส้นใย | กรัม | 17.9 |
Minerals | ||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 143 |
เหล็ก | มิลลิกรัม | 2.57 |
โซเดียม | มิลลิกรัม | 643 |
Vitamins | ||
วิตามิน C, (กรมแอสคอบิค) | มิลลิกรัม | 0 |
วิตามิน A, IU | IU | 0 |
Lipids | ||
กรดไขมัน | กรัม | 3.57 |
คอลเลสเตอรอล | มิลลิกรัม | 0 |
ที่มา : USDA Nutrient Database
สรรพคุณถั่วดาวอินคา
เมล็ดถั่วดาวอินคานำมาคั่วรับประทานหรือสกัดน้ำมันสำหรับประกอบอาหารหรือรับประทาน ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด ซึ่งในเมล็ดมีสรรพคุณหลายด้าน ได้แก่
– ช่วยลดคอเลสเตอรอล
– ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด
– ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
– ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
– ช่วยลดไขมันประเภทไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด
– ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันโรคเบาหวาน
– ช่วยลดน้ำหนัก
– ช่วยลดอาการซึมเศร้า
– กระตุ้นความจำ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมอง
– ป้องกันโรคสมองเสื่อม
– เสริมสร้างเซลล์ และรักษาความแข็งแรงของเซลล์
– ป้องกัน และลดการอักเสบของหลอดเลือด
– ป้องกัน และลดอาการของโรคไขข้อ
– รักษาโรคผิวหนัง
– ป้องกัน และบรรเทาโรคหอบหืด
– รักษาโรคไมเกรน
– ป้องกันโรคต้อหิน ต้อกระจก
– ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเสื่อมของเซลล์ ช่วยให้ผิวเปล่งปลั่ง แลดูอ่อนวัย
– ควบคุมความดันในลูกตา และเส้นเลือด
– กระตุ้น และส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย
– ตำรับยาสมุนไพรของชาวอเมซอนมีการใช้เมล็ดถั่วดาวอินคาเป็นยารักษาโรครูมาตอยด์ และลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ใบ และยอดอ่อน (รับประทานหรือชงเป็นชา)
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ป้องกันโรคหลอดเลือด และสมอง
– ป้องกันโรคเบาหวาน
โอเมก้า-3 ในถั่วดาวอินคา
ถั่วดาวอินคา ถือว่ามีปริมาณโอเมก้า-3 สูง และสูงกว่าธัญพืชหลายชนิด รวมถึงปลาบางชนิดที่เป็นแหล่งโอเมก้า-3 ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีการวิจัยเกี่ยวกับการนำถั่วดาวอินคามาใช้เป็นแหล่งโอเมก้า-3 แทนน้ำมันจากปลาได้หรือไม่
การศึกษาผลของน้ำมันจากถั่วดาวอินคาต่อการลดระดับไขมันในเลือดกับผู้ป่วย 24 คน ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำมันที่สกัดจากถั่วดาวอินคา 5-10 มิลลิลิตร ความเข้มข้นของโอเมก้า-3 ขนาด 2 กรัม/5 ml และอีกกลุ่มรับประทาน กรดไขมันโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลา นาน 4 เดือน พบว่า ทั้ง 2 กลุ่ม มีผลคอเลสเตอรอลทั้งหมด และไขมันที่ไม่จำเป็นในเลือดลดลง และพบว่าระดับไขมันเอชดีแอล (HDL) เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันที่สกัดได้จากถั่วดาวอินคา มีคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายคล้ายกับกรดไขมันโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลา
ที่มา : (1) อ้างถึงใน Garmendia, Pando & Ronceros, (2011)
ความเป็นพิษ
งานวิจัยเพื่อหาความปลอดภัย และผลข้างเคียงจากการรับประทานน้ำมันถั่วดาวอินคา โดยการทดลอง
ในชาย และหญิงที่มีอายุระหว่าง 25-55 ปี จำนวน 30 คน แบ่งเป็นชาย 13 คน และเพศหญิง 17 คน แต่ละคนรับประทานน้ำมันถั่วดาวอินคา วันละ 10-15 มิลลิลิตร โดยเปรียบเทียบกับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันปริมาณเท่ากัน ตอนเช้า นาน 4 เดือน พบว่า การรับประทานน้ำมันทั้ง 2 ชนิด จะเกิดผลข้างเคียงในสัปดาห์ที่ 4 ได้แก่
– อาการคลื่นไส้
– เรอ
– ร้อนวูบวาบ
– ปวดศีรษะ
– ปวดท้อง
– ท้องผูก
ส่วนผลข้างเคียงต่อตับด้วยการวัดค่า Creatinine ไม่พบว่ามีความผิดปกติในทั้ง 2 กลุ่ม
ที่มา : (1) อ้างถึงใน Fontani et al. (2005)